ตอนที่ 4
เรื่องเล่าจากมารูลัช
ก่อนเดินทางไปสำรวจสถานที่สำคัญต่างๆ
ทางประวัติศาสตร์บนเกาะครีต สามีฉันบอกว่าจะพาไปรู้จักกับหมู่บ้านมารูลัช (Maroulas Village) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาก่อนเป็นอันดับแรก
เราจึงตกลงกันว่าจะเดินเท้าขึ้นเขาตั้งแต่เช้าตรู่ เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนพอเริ่มสายแดดจะแรงมาก
บางวันอุณหภูมิร้อนถึง 40 - 45 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
คุณพ่อสามีบอกว่าหมู่บ้านมารูลัชอยู่ห่างจากหมู่บ้านพลาตาเนสที่เราอาศัยประมาณ 5
กิโลเมตร
ฉันนึกในใจว่า
อย่างนี้ก็เดินเท้าได้สบายแบบซิวๆ แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะ 5 กิโลเมตรที่ว่าไม่ใช่เส้นทางบนพื้นที่ราบ
แต่เราต้องเดินขึ้นเนินเขาลูกแล้วลูกเล่า ผ่านทางโค้งหลายสิบโค้ง
ระหว่างเดินทางเราได้ยินเสียงหอบหายใจของอีกฝ่ายดังสลับไปมากับเสียงลากส้นรองเท้าเสียดสีบนพื้นถนนลาดยางมะตอย
ฉันแอบหันหลังกลับไปมองยังทิศทางที่จากมาบ่อยครั้ง
จนสามีต้องตะโกนมาตามสายลมด้วยน้ำเสียงล้อเลียนว่า
“แม่เต่าจะหันหลังกลับไม่ได้แล้วนะ
เพราะคุณเป็นคนต้นคิดที่จะเดินเอง”


เมื่อถึงหมู่บ้านมารูลัชซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเรธิมโน
โดยมีระยะทางห่างกันประมาณ 10
กิโลเมตร และสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 240 เมตร
ทำให้เราแทบจะลืมความเหน็ดเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของหมู่บ้านก็สามารถเห็นทะเลครีสตันสีครามจรดกับท้องฟ้ามองเป็นผืนเดียวกันจนแยกไม่ออก
อีกอย่างที่นี่ก็สมกับเป็นหมู่บ้านแห่งประวัติศาสตร์ตามคำเล่าลือ เนื่องจากสังเกตเห็นความหลากหลายทางด้านสถาปัตยกรรม
แม้อาคารบ้านเรือนบางหลังจะเริ่มผุพัง แต่บางส่วนได้รับการบูรณะขึ้นใหม่แต่ยังเค้าโครงเดิมเอาไว้จนแยกไม่ออกว่าหลังไหนเป็นบ้านเก่าที่อนุรักษ์
หรือหลังไหนที่สร้างขึ้นใหม่
บาทหลวงนิโคเลาส์แห่งหมู่บ้านมารูลัช
เพื่อนสนิทคุณพ่อสามีเล่าให้พวกเราฟังว่า
สาเหตุที่หมู่บ้านมารูลัชยังคงเก็บรักษาซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างยุคสมัยต่างๆ
เอาไว้จนรวมเป็นส่วนหนึ่งกับบ้านแต่ละหลัง เนื่องจากในปี ค.ศ.1980 ทางราชการได้ขึ้นทะเบียนให้หมู่บ้านมารูลัชเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวกรีกนั่นเอง
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าหมู่บ้านมารูลัชเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยอารยธรรมมิโนอัน
(Minoan Civilization) เมื่อประมาณ 3,500 พันปีมาแล้ว และภายในหมู่บ้านนักโบราณคดีได้ทำการค้นพบทั้งหลุมฝังศพโบราณ
สุเหล่า และสัญลักษณ์ต่างๆ ในยุคไบแซนไทน์ นอกจากนี้ยังพบซากอาคารสองหลังซึ่งสร้างโดยฝีมือชาวเมืองเวนิส
และบ้านพักอาศัยในสไตล์ชาวเติร์กอีกด้วย
กล่าวกันว่า สมัยก่อนยังไม่มีโทรศัพท์และเครื่องมือการสื่อสาร
แต่ชาวเวนิสนั้นฉลาดมากได้มองหาเทือกเขาสูง จนพวกเขาได้มาพบหมู่บ้านมารูลัชซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสม
จึงได้สร้างหอคอยขึ้นเพื่อใช้สื่อสารกับจุดบัญชาการใหญ่ที่เมืองเรธิมโน (Rethymno)
โดยใช้วิธีการจุดคบเพลิงเป็นสัญญาณ
และชาวเมืองเวนิสน่าจะชื่นชอบหมู่บ้านมารูลัชเป็นพิเศษ
สังเกตได้จากการสร้างสถาปัตยกรรมทิ้งไว้ในหมู่บ้านเต็มไปหมด
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสุนทรียทางศิลปะลงไปด้วย ต่อมาเมื่อชาวเติร์กเข้ามามีอิทธิพลในเกาะครีตก็ได้เพิ่มองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจากอนาโตเลียผสมผสานลงไปด้วยเช่นกัน
โดยสร้างเหมือนปล่องไฟ บ้างก็ทำเป็นหลุม รวมถึงน้ำพุ
และเนื่องจากหมู่บ้านมารูลัชมีสภาพอากาศดีตลอดทั้งปี
ในอดีตจึงทำให้พวกเหล่าขุนนาง รวมถึงคนมีฐานะดีต่างพากันแห่มาสร้างบ้านพักตากอากาศ
และสร้างโกดังเอาไว้เพื่อเก็บพืชพรรณธัญญาหารทางการเกษตร
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า
ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งนี้จะมีอายุยืนยาวมากกว่าผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ราบ
เนื่องจากได้รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง
ทั้งน้ำมันมะกอกที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน
รวมถึงมีพืชสมุนไพรนานาชนิดให้รับประทาน ทั้งไทม์ ออริกาโน โรสแมรี เป็นต้น
ส่วนร่างกายก็ได้สัมผัสกับอากาศทั้งสี่ฤดู
ซึ่งแม้แต่ตอนนี้เราก็ยังสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ของอากาศแบบนั้นอยู่
ที่สำคัญชาวบ้านส่วนใหญ่ในมารูลัชจะใช้ชีวิตอย่างสมถะ
อยู่อย่างพอเพียง และบางส่วนได้หันมาผลิตอาหารออแกร์นิค (Organic Food) ไว้รับประทาน เช่น ทำขนมปังปราศจากสารกันบูด
นำนมจากแพะมาแปรรูปเป็นโยเกิร์ต หรือซีส บางรายออกไปเก็บสมุนไพรจากภูเขามาสกัดน้ำมันหอมระเหยไว้ใช้ในครัวเรือน และบางคนก็เลี้ยงผึ้ง
พวกเขาจะนำกล่องรังผึ้งกระจายไปตามภูเขาเพื่อให้ผึ้งได้ออกไปเก็บเอาน้ำหวานจากดอกไม้ป่าและสมุนไพรนำกลับมาที่รัง
กล่าวกันว่าน้ำผึ้งที่เกาะครีตนั้นนอกจากจะมีคุณภาพดียังช่วยรักษาโรคได้อีกด้วย
เนื่องจากภายในน้ำผึ้งมีสมุนไพรนานาชนิดผสมอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ชาวสวนบางรายยังชอบนำเอาผลผลิตทางเกษตรมาแปรรูปไว้รับประทานเองในครัวเรือน
เช่น หากใครปลูกมะเขือเทศไว้เยอะ
รับประทานไม่ทันก็จะนำเอามะเขือเทศไปทำการถนอมอาหารในลักษณะต่างๆ บางคนนำไปบดผสมกับเกลือ
แล้วนำไปตากแดดพอแห้งหมาดก็กลายเป็นซอสรสเลิศ สามารถนำไปปรุงรสใส่ลงในอาหารต่างๆ
เพิ่มความกลมกล่อมยิ่งขึ้น บางรายนิยมทำมะเขือเทศตากแห้งเหมือนลูกพลับตากแห้ง
เก็บไว้รับประทานได้หลายเดือน
ส่วนรายไหนที่มีสวนมะกอกแทนที่จะขายในราคาถูกให้พ่อคนกลาง ซึ่งกดราคาต่ำเหมือนในอดีตก็จะหันมาลงทุนทำเองแบบพอเพียง
เมื่อเหลือกินเหลือใช้พวกเขาจะนำออกไปจำหน่ายแก่เพื่อนบ้านหรือนักท่องเที่ยวในราคาย่อมเยาเหมือนกับสินค้าโอทอปของไทย
หากจะว่าไปแล้วการใช้ชีวิตของชาวบ้านมารูลัชก็คล้ายกับวิถีชีวิตชาวชนบทของไทยเราค่อนข้างมาก
แทบไม่น่าเชื่อว่าโลกใบนี้จะมีสิ่งเชื่อมโยงถึงกันอยู่หลายอย่าง เช่นในเรื่องของภาษา
ซึ่งบางคำออกเสียงคล้ายกัน ภาษาไทยคำว่า ‘ย่า’ หรือ ‘ปู่’ ในภาษากรีกจะใช้ว่า ‘ยาย่า’ (Ya-Ya) หรือ ‘ปะปู่’ (PaPou) แต่คำว่า ‘ใช่’ ของไทย ภาษากรีกจะออกเสียงว่า ‘เนะ’ (Ne) เหมือนกับภาษาเกาหลี
เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงตำนานหอคอยบาเบล
(Tower of Babel) ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล
มนุษย์สร้างหอคอยบาเบลขึ้นเพื่อต้องการไปสู่สรวงสวรรค์ ในยุคเริ่มแรกหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลก
มนุษย์ยังมีความสามัคคีกัน พูดภาษาเดียวกัน และเป็นเหมือนพี่น้องร่วมโลก แต่พอสร้างหอคอยสูงขึ้น
มนุษย์ก็ยิ่งเกิดความโลภ มีความหยิ่งทะนงตน จิตใจคิดคด ไม่ซื่อสัตย์ และคิดท้าทายพระเจ้า
ตั้งแต่นั้นเพื่อให้มนุษย์ได้รับบทเรียนราคาแพง พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้เกิดภาษาขึ้นมากมายบนโลก
ทำให้มนุษย์สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เมื่อเกิดความคิดขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง โครงการก่อสร้างหอคอยบาเบลของมนุษย์ผู้โลภมากจึงพังพินาศลงในท้ายที่สุด
เมื่อฉันได้รู้จักหมู่บ้านมารูลัชครั้งแรก
เวลานั้นเหมือนกับได้เดินทางย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มแรกที่พระเจ้าทรงสร้างโลก
อาจเป็นเพราะหมู่บ้านมารูลัชเต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ตั้งแต่สมัยอารยธรรมมิโนอัน บวกกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของที่นี่ ในสายตาฉันมารูลัชจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่หมู่บ้านเล็กๆ
ทางประวัติศาสตร์ธรรมดาของชาวกรีกเท่านั้น แต่ยังเปรียบเหมือนขุมทรัพย์สำคัญของโลก
หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่ที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ซึ่งบางครั้งฉันก็อดคิดเปรียบเทียบหมู่บ้านมารูลัชกับชีวิตจักจั่นป่าไม่ได้
ครั้งหนึ่งบาทหลวงนิโคเลาส์เล่าให้เราฟัง
จักจั่นป่าที่เราเห็นตัวบอบบาง แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแมลงที่มีความอดทนสูงมาก
และมีช่วงอายุไขนานถึง 17 ปี เสียงขับขานที่เราได้ยินมาจากเสียงของตัวผู้ที่ไล่ตามจีบตัวเมีย
จักจั่นที่เกาะครีตจะเริ่มออกมาส่งเสียงร้องทั่วเกาะในช่วงหน้าร้อน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนพอถึงเดือนกันยายนจักจั่นก็ค่อยๆ
ลดน้อยลง และในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนี้
จักจั่นจะออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์กันอย่างรีบเร่ง
จากนั้นตัวเมียจะเริ่มวางไข่ไว้ใต้เปลือกต้นไม้ต่างๆ พอเสร็จภารกิจก็ทยอยสิ้นอายุไขหายไปจากป่า
ส่วนไข่ของมันจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงฟักกลายเป็นตัวอ่อน
แล้วลงไปฝังตัวอยู่ใต้ดิน หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยการดูดน้ำจากรากไม้ เมื่อวงจรอายุครบ 17 ปี ตัวอ่อนนับล้านๆ
จึงค่อยโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน แล้วไต่ขึ้นไปยังต้นไม้ ก่อนจะลอกคราบกลายเป็นจักจั่น
กางปีกโบยบินสู่โลกกว้าง พร้อมกับส่งเสียงประสานกันระงมไปทั่วราวป่าอีกครั้ง
และอีกครั้ง
แม้สังคมมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเป็นเวลายาวนาน
ทว่าการสร้างบ้านแปลงเมืองดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากและสลับซับซ้อนมาหลายยุคสมัย
แต่อีกด้านก็ถือเป็นความมหัศจรรย์ที่ผู้คนต้องใช้ทั้งความอดทน พยายาม
และรอคอยอย่างยาวนานกว่าจะสามารถสร้างสังคมเล็กๆ ให้กลายเป็นประเทศที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง
แม้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติมากมาย ทั้งภัยจากสงคราม
ภัยพิบัติจากธรรมชาติ รวมถึงมีปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ แต่การที่มนุษย์ไม่ย่อท้อ
ไม่ละทิ้งความพยายามและความหวัง จึงทำให้ยังคงมีประเทศซึ่งเปรียบเหมือน “บ้าน”
ให้อยู่อาศัยได้เฉกเช่นปัจจุบัน
และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ
ในปัจจุบันก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่วันสองวัน
หากแต่เส้นทางเสรีภาพนี้ได้ถูกร้อยเรียงถากถางขึ้นอย่างยาวนาน
ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่โลกได้ก่อเกิดเป็นสังคมมนุษย์ ไม่ว่าแผ่นดินไหน
มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มักทิ้งร่องรอยและบาดแผลเอาไว้
เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เติมเต็มและสานต่อ ชนชาวกรีกก็ดุจเดียวกัน
กว่าจะได้อิสรภาพมาไว้ในกำมือและนำเอาคำว่า “เสรีภาพ” ไปแขวนติดประกาศบนผืนธงไตรรงค์อย่างภาคภูมิก็มิใช่เรื่องง่ายๆ
พวกเขาต้องผ่านการต่อสู้ ผ่านการสูญเสียทั้งชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพยากรไปนับไม่ถ้วน
สามีฉันเล่าให้ฟังว่า ในทางคริสต์ศาสนานั้น
ได้เปรียบการต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคเหมือนกับการต่อสู้กับความชั่วร้ายภายในตัวของมนุษย์เองซึ่งมีทั้งซาตานและพระเจ้าอยู่ในจิตใจของเรา
แม้ภายในจิตวิญญาณมนุษย์จะเป็นที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งบาป แต่พระเจ้าก็ได้มอบโอกาสให้ทุกคนได้เลือกเดินบนเส้นทางที่ถูกหรือผิดด้วยตัวเองอยู่เสมอ
ซึ่งโอกาสที่ว่าก็เปรียบดังความหวังที่พระเจ้าทรงหยิบยื่นให้
อีกนัยหนึ่งก็เหมือนกับความรักความเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อมวลมนุษย์ ดังนั้นโลกจึงยังคงดำเนินต่อไปได้
สำหรับชาวกรีก ทุกครั้งเมื่อชีวิตตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
พวกเขามักจะเข้มแข็งกันเป็นพิเศษ ฉันสังเกตเห็นญาติสามี รวมทั้งเพื่อนๆ ของเขา
แม้จะไม่ได้รับค่าแรงในการทำงานมากเหมือนในอดีต หรือไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลา
แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดจะลาออก เนื่องจากทุกคนทราบถึงสภาพปัญหาของประเทศเป็นอย่างดี
จึงได้แต่อดทนอดกลั้น และชอบกล่าวให้กำลังใจกันและกันทำนองว่า
“ถ้ามีความเชื่อ ศรัทธา และความหวัง
ทุกอย่างในชีวิตก็ล้วนแต่เป็นไปได้ทั้งสิ้น”
แม้วันนี้ชาวกรีกต้องกลับมาเดินอยู่บนเส้นทางแห่งสงครามอีกครั้ง
ซึ่งเป็นสงครามที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นสงครามเศรษฐกิจที่มีพิษสงเลวร้ายไม่แพ้สงครามรูปแบบอื่นๆ
แต่สิ่งเดียวที่ชาวกรีกทำได้คือ การอดทนรอคอยด้วยความหวังต่อไป เฉกเช่นจักจั่นป่าที่นับวันรอโอกาสขึ้นมากางปีกโบยบินอย่างเป็นอิสระบนโลกทุกๆ
รอบ 17 ปี
บาทหลวงนิโคเลาส์
ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งหมู่บ้านมารูลัชกล่าวว่า
“ชีวิตจักจั่นคือ ความมหัศจรรย์โดยแท้
แต่สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้มักจะบอกใบ้อะไรบางสิ่งกับพวกเราทุกคนเสมอ”
ไม่มีความคิดเห็น:
โพสต์ความคิดเห็น